วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

Nikon 500 f4 NANO with Wildlife


I AM Nikon  ได้เดินทางเข้าสู่ป่าแก่งกระจาน  จังหวัดเพชรบุรี  พร้อมกับ 2 ช่างภาพมืออาชีพของ Nikon คือ  คุณชาธร  โชคภัทระ  และ  คุณชนะศักดิ์  ชุมนุมวรรณ  โดยนำเลนส์ 500 mm. f4 NANO เข้าไปทดสอบประสิทธิภาพด้วย  งานนี้แม้ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2 วัน 1 คืน  แต่ก็ทำให้ช่างภาพทั้งสองได้ประจักษ์ถึงความอุดมสมบูรณ์และความยิ่งใหญ่ของผืนป่าแก่งกระจาน  เช่นเดียวกับเลนส์ Super Tele ตัวนี้  ที่ไม่เคยทำให้ผิดหวัง  หรือพลาดวินาทีสำคัญ  ว้าว!


นกกก (นกกาฮัง) หรือ Great Hornbill  ตัวผู้ (สังเกตที่ตาสีแดงครับ  ถ้าตัวเมียจะตาสีขาว) บินมาเกาะโชว์สีสันสดใสของมันในช่วงต้นฤดูผสมพันธุ์คือสิ่งสะดุดตา  เลนส์ 500 mm. ทำงานร่วมกับตัวต่อ Tele Converter 1.7X  และระบบลดการสั่นสะเทือน VR (Vibration Reduction) ได้อย่างยอดเยี่ยม


เจ้านกกก  เกาะอยู่ที่ต้นไม้เพียงไม่นาน  ปล่อยให้ช่างภาพเลือกเก็บภาพได้ตามใจชอบ  แล้วก็บินจากไปด้วยความเงียบ  ผิดกับเสียงแหวกอากาศดังฟู่ใหญ่ตอนมันร่อนมาถึง  อีกไม่นานมันคงได้พบคู่ใจแล้ว


ลูกไทรคืออาหารอันโอชะที่นกเงือกโปรดปรานที่สุด  ลีลาการกินของมันก็ไม่เหมือนใคร  ต้องใช้ปากโยนรับกินกลางอากาศแบบนี้  ภาพนี้ถ่ายตอนประมาณ 18.30 น. แสงน้อยมาก  ทว่ากล้อง D3s ก็ให้ไฟล์ภาพที่งดงาม  แม้จะเร่ง ISO จนสูงปรี๊ด  แต่ก็เกิด Noise เพียงเล็กน้อย  ให้อารมณ์ของป่าได้ดี


ป่าแก่งกระจานเป็นเพียงไม่กี่แห่งของเมืองไทย  ที่สามารถพบนกติ๊ดสุลต่านได้  ยามเช้ามันเริ่มหิว  เลยออกมาหาหนอนตัวเป้งกิน  ดูขนาดหนอนแล้วมันคงอิ่มไปเลยทั้งวัน  ฮาฮาฮา


แสงแดดยามเช้าที่แก่งกระจานงามอย่าบอกใคร  ถ่ายภาพใยแมงมุมย้อนแสงได้อารมณ์และสีสดชื่นดี  ภาพนี้ใช้เลนส์ 500 mm. + Teleconverter 1.7X  ช่วยดึงภาพเจ้าแมงมุมน้อยที่อยู่บนต้นไม้สูงลิบได้คมชัด


แสงยามเช้าที่บ้านกร่างแคมป์สดใส  ทำให้ช่างภาพทำงานได้ง่าย  อีกทั้งยังมีท้องฟ้าเป็น Background แจ่มๆ ฝูงนกออกมาหากิน  เสียงร้องเรียกกันจ๊อกแจ๊กระงมไปหมด  สะท้อนว่าป่าแก่งกระจานยังมีชีวิต


เจ้านกจับแมลงออกมาโชว์ตัวในยามเช้า  มันเลือกเกาะอยู่ตรงปลายกิ่งไม้สูงซึ่งกำลังออกดอก  ใช้สายตาอันแหลมคมคอยเฝ้าดูแมลงเล็กๆ ที่เป็นเหยื่อ  สังเกตให้ดีที่โคนปากของมันมีขนเส้นเล็กๆ อยู่ด้วย  นั่นไม่ได้มีไว้เท่ห์ๆ  แต่มีไว้ต้อนแมลงเข้าปากขณะมันบินล่าเหยื่อ  เจ๋งมากๆ


อีกภาพกับเจ้านกจับแมลงตัวจ้อย  ซึ่งปกติจะเคลื่อนไหวไม่หยุด  ช่างภาพจึงต้องใช้ความอดทน  รอจังหวะเหมาะๆ ในการรัวชัตเตอร์  บางทีการถ่ายภาพนกก็ไม่จำเป็นต้องให้เห็นนกเต็มเฟรม  แต่มีการจัดองค์ประกอบภาพให้เหลือพื้นที่ว่าง (Space) เพื่อให้เห็นบรรยากาศ  หรือถิ่นที่อยู่ (Habitat) ของนกด้วยก็ดี


นกปรอทคิ้วขาวจีบกัน  เป็นภาพน่ารักๆ ที่ป่ามอบเป็นของขวัญให้เรา  ช่วงเดือนมกราคมเป็นต้นฤดูจับคู่ผสมพันธุ์ของนกป่านับร้อยชนิด  เราจึงได้ Action ดีๆ แปลกๆ นี้มาฝากเพื่อนๆ ทุกคนครับ


นกปรอทคิ้วขาว ที่ยอดพะเนินทุ่ง  ค่อนข้างจะคุ้นคนและเข้ามาใกล้พอสมควร  เราจึงต้องถอด Teleconverter 1.7X ออก  เพราะใกล้มากจนทำให้ภาพล้นเฟรม  ระยะ 500 mm. สำหรับภาพนี้ถือว่ากำลังดี


ค่างแว่นถิ่นใต้  ถือเป็นสัตว์รับแขกของป่าแก่งกระจานชนิดหนึ่ง  เพราะพบเห็นได้ง่าย  และสร้างความตื่นเต้นให้ได้เสมอ  เนื่องจากมันค่อนข้างคุ้นคน  แต่มันก็มีระยะปลอดภัยของตนเองที่ไม่ยอมให้เราเข้าใกล้กว่านั้น  ค่างแว่นถิ่นใต้มีหนังตาสีขาวรูปตัว C รอบตาทั้งสอง  ส่วนค่างแว่นถิ่นเหนือมีหนังตาสีขาวรูปตัว O รอบตาทั้งสองข้าง  ทว่าที่แก่งกระจาน  มีเพียงค่างแว่นถิ่นใต้ให้พบเห็น  เจ้าตัวนี้ไว้ทรงผม Punk สุดๆ เลย  ฮามากๆ



แสงยามบ่ายแก่ที่แก่งกระจาน  ช่วยให้เกิดภาพ Rim Light บนขนสีขาวหงอกๆ ของเจ้าค่างแว่นถิ่นใต้  ที่กำลังนั่งระแวดระวังภัยให้ฝูงซึ่งล่วงหน้าไปแล้ว  เจ้าตัวนี้เป็นตัวปิดท้ายฝูง  แต่มันก็รู้ว่าเราไม่ทำอันตราย  เลยนั่งพักบนกิ่งไม้สูงอย่างสบายอารมณ์


ดูกันชัดๆ ครับ  กับใบหน้าอันหล่อเหลาของค่างแว่นถิ่นใต้ตัวผู้ที่โตเต็มที่  จะเห็นหนังสีขาวรูปตัว C รอบตาทั้งสองข้างได้อย่างชัดเจน  เรารอจังหวะตอนมันนั่งพักหลังจากกินใบไม้อิ่ม  ทำให้ถ่ายภาพได้ง่าย


อีกภาพกับท่าระวังภัยของค่างแว่นถิ่นใต้  สรรพเสียงรอบกายและการเคลื่อนไหวแม้เพียงน้อยนิด  ก็ทำให้มันสงสัยได้  นี่คือหน้าที่สำคัญที่ต้องปกป้องให้ทั้งฝูงปลอดภัย  ถ้ามีภัยมา  มันจะส่งเสียงเตือนกันลั่น


ชะนีมือขาว  ซุ่มเงียบอยู่บนร่มไม้สูง  ก้มลงมาดูว่าเราทำอะไรกัน  สักพักพอไม่มีอะไรน่ากลัว  มันก็เริ่มห้อยโหนและกินผลไม้ใบไม้ต่อ  ยามเช้าๆ เย็นๆ เราจะได้ยินมันร้องประกาศอาณาเขตก้องป่าดัง ผัวๆๆๆๆๆ


ปิดท้ายภาพสุดท้ายกันที่เจ้าชะนีมือขาว  กำลังอร่อยกับผลไม้ป่าในมือ  ขอให้ป่าแก่งกระจานงดงามเช่นนี้ไปอีกนานๆ โชคดีที่ความเจริญยังเข้ามาไม่ถึง  สัตว์ป่าจึงยังมีที่อาศัยเหมือนบรรพบุรุษของมัน

ขอขอบคุณ  บริษัท Nikon Sales (Thailand) Co., Ltd. ที่มอบเลนส์ 500 mm. f4 NANO ให้กับ I AM Nikon ไปทดสอบประสิทธิภาพ  และเก็บภาพความงามของชีวิตสัตว์ป่าหายากมาฝากทุกคนครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

Nikon in ทะเลตรัง


ผืนน้ำและผืนฟ้าหน้าเกาะกระดาน  ใสมากๆๆๆๆๆ  ใสราวกระจกจริงๆ ครับ  ภาพนี้เลนส์ 14-24 mm. NANO เก็บสี  ความคม  รายละเอียด  การไล่โทนสี  และ Contrast ได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ


อีกมุมในวันฟ้าใสปิ๊งที่หน้าเกาะกระดาน  สวรรค์อันแสนโรแมนติกของคู่รักทะเลหวาน  ในงานวิวาห์ใต้สมุทรช่วง 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี  ภาพนี้ผมวางกล้องลงต่ำในระดับเรี่ยน้ำทะเล  แล้วรอจังหวะให้คลื่นใสสาดซัดเข้ามา  ทำให้ได้อารมณ์ภาพแปลกไปจากมุมมองปกติของสายตาครับ


น้ำทะเลสีมรกตสดใส  ไล่โทนไปตามระดับความลึกสู่สีครามเข้มเบื้องหลัง  มนต์เสน่ห์ทะเลตรังอันเป็นเอกลักษณ์  ได้ไปเยือนกี่ครั้งก็ลืมไม่ลง  ภาพนี้ผมใช้เลนส์ Zoom 80-200 mm. f2.8 VRI ใส่ Filter CPL ของ Nikon  ทำให้สีในภาพอิ่มตัวเช่นนี้ล่ะครับ


อีกมุมสวยๆ หน้าเกาะกระดานตอนใกล้เที่ยง  แสงออกจะแข็งไปหน่อย  แต่ก็ใช้ Filter CPL ช่วยตัดแสงสะท้อน  และทำให้สีของน้ำทะเล  ท้องฟ้า  รวมทั้ง Detail ในก้อนเมฆกลับมาเข้มขึ้น  แจ่มครับผม


วันฟ้าใสหน้าเกาะกระดาน  แดดแจ่ม  สะท้อนผืนทรายสีขาวจั๋ว  แต่เลนส์  Nikon 14-24 mm. f2.8 NANO ก็เก็บสีสันและรายละเอียดได้อย่างงดงามน่าประทับใจจริงๆ ครับ


มุมส่วนตัวของคนรักสงบที่หน้าเกาะไหง  เติมเต็มวันพักผ่อนให้สมบูรณ์แบบ  ท่ามกลางธรรมชาติพิสุทธิ์  แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยของเราก็ยังมีแง่มุมที่งดงามอยู่เหมือนกันครับ


เนินทรายที่หัวเกาะมุกต์วันนี้ยังขาวสะอาด  ทว่าแม่แต่ฝรั่งมังค่าไปพักผ่อนกัน  ส่วนคนไทยไม่ค่อยเห็น  แดดแจ่มช่วยให้ฟ้าใส  ทะเลสีมรกตจึงเผยความงามออกมาอย่างเต็มตา  เลนส์ Nikon 14-24 mm. f2.8 NANO ยังทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม  สามารถเก็บ Detail ในผืนทรายขาวๆ และก้อนเมฆมาได้อย่างครบครันๅ


ต้นหูกวางผลัดใบเปลี่ยนสีในช่วงต้นฤดูร้อนที่หน้าเกาะไหง ตัดกับสีฟ้าและทะเลตรังอย่างลงตัวครับ


คู่หนุ่มสาวชาวต่างชาติไม่ปล่อยเวลาและโอกาสให้สูญเปล่า  แช่ทะเลใสในช่วงแดดจ้า  ทำตัวราวกับเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ  คนไทยเห็นแล้วต้องอิจฉา  เพราะดูเขาจะไม่กลัวแดดกันเลยนะครับ


การถ่ายภาพทะเลถือเป็นความท้าทาย  เพราะทำยังไงจะไม่ให้ภาพแบน? เราจึงต้องหาต้นไม้  ผู้คน  หรือเรื่องราว (Story) เพิ่มเข้าไปในภาพ  การรู้จักเลือกช่วงเวลา  จังหวะ  โอกาส  และรู้จักจัดองค์ประกอบภาพ (Composition) จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ภาพสื่อความหมาย  เรื่องราวกับผู้ดูได้


มะพร้าวโอนเอนบนเนินทรายหัวเกาะมุกต์  แดดยามเที่ยงวันแม้จะให้แสงแข็ง  ทว่าก็มีข้อดี  คือช่วยให้สีต่างๆ เปิดเผยตัวเองออกมาต่อสายตาเรา  ส่วนเงาบนผืนทรายก็ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้ภาพได้ไม่น้อยเลยครับ


เนินทรายหัวเกาะมุกต์ภายใต้แสงเที่ยงวัน  เป็นสวรรค์อันเงียบสงบเคียงคู่น้ำทะเลสีมรกตสดใส  ริ้วเมฆขาวบางๆ ระบายฟ้าช่วยแต่งแต้มทิวทัศน์ทะเล (Sea Scape) ให้มีเรื่องราวมากขึ้น  ภาพนี้ใช้เลนส์ Nikon 14-24 mm. f2.8 NANO  ถ่ายจากบนเรือขณะเคลื่อนออกจากฝั่ง  มุ่งหน้าสู่ถ้ำมรกตครับ


แสงสีอัศจรรย์บนฟากฟ้าที่หน้าเกาะไหง  สะท้อนเป็นภาพเสมือนจริงลงบนผืนทะเลนิ่งสงบยามพลบค่ำ  นี่คือของขวัญจากธรรมชาติที่มอบให้เรา  "นักเดินทาง" และ "คนรักการถ่ายภาพ" ที่ยังออกแสวงหาแง่มุมงามๆ ใต้ฟ้าเมืองไทยอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง


แสงสุดท้ายระบายฟ้าเป็นสีชมพูเลื่อมงามจับใจที่หน้าเกาะไหง  สีหวานแบบนี้ชวนให้เคลิ้มฝันไปเลย  นี่คือความโรแมนติกของทะเลตรังซึ่งผู้คนทั่วโลกพากันฝันหา  ภาพนี้ทดลองใช้เลนส์ Nikon 14-24 mm. f2.8 NANO  คู่กับกล้อง Nikon D3  โดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง  แต่เร่ง ISO ไปที่ 2000 เพื่อทดสอบการเกิดสัญญาณรบกวน (Noise)  ผลที่ได้ยังน่าประทับใจมากครับ  ภาพเนียนนุ่มเหลือกำลัง!


ใช้เลนส์ 14-24 mm. f2.8 NANO  เก็บภาพบรรยากาศยามเย็นหน้าเกาะไหง  มองเห็นฝั่งแผ่นดินใหญ่ของทะเลตรังอยู่ลิบๆ  มีเกาะม้าอาบแสงสีทองอยู่กลางภาพ  จนมาถึงผู้คนและทิวมะพร้าวเป็น Foreground เป็นการจัดองค์ประกอบที่ช่วยให้ภาพมีมิติ  ไม่แบน  และมีเรื่องราวมากขึ้นครับ


เรือหัวโทงที่รับส่งนักท่องเที่ยวไปดำน้ำท่องเที่ยวทะเลตรังมาตลอดวัน  มุ่งหน้ากลับบ้าน  ภายใต้แสงสุดท้ายแห่งวันที่หน้าเกาะไหง


ทริปทะเลตรังนี้  I AM Nikon ต้องขอขอบคุณสายการบิน Thai Air Asia เป็นอย่างมาก ที่นำสื่อมวลชนลงไปสัมผัสความงามของทะเลตรังในครั้งนี้  พร้อมกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ตรัง / ตรัง-กรุงเทพฯ เที่ยวปฐมฤกษ์  พร้อมโปรโมชั่น 990 บาท  เชื่อมโยงอันดามันเข้าสู่คนไทยและทั่วโลกแล้ววันนี้




Nikon in บึงบอระเพ็ด


บึงบอระเพ็ด  จังหวัดนครสวรรค์ 
สวรรค์ของนกน้ำ  พืชพรรณ  และสรรพชีวิต  บึงน้ำขนาด 6 หมื่นกว่าไร่  ที่ได้รับการขนานนามมาแต่โบราณว่า "ทะเลเหนือ" หรือ "จอมบึง" เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย  ซึ่งเคยมีจระเข้อาศัยอยู่อย่างชุกชุม  เคยเป็นแหล่งที่มีปลาเสือตอ (แต่สูญพันธุ์ไปแล้ว) และเป็นที่เดียวในโลกที่มีนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาศัยอยู่  แต่ก็น่าเสียดายที่สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้วเช่นกัน

I AM Nikon ได้ไปเยี่ยมเยือนบึงบอระเพ็ดอีกครั้ง  แต่หลังภาวะน้ำท่วมก็ต้องใจหายที่พบว่าปริมาณนกและบัวในบึงบอระเพ็ดลดลงจนน่าตกใจ  คงต้องใช้เวลาเยียวยาวอีกนานพอสมควร  ทริปนี้เรานำเลนส์ Nikon 500 mm. F4 NANO จากบริษัท Nikon Sales (Thailand) Co., Ltd. ไปเก็บภาพสวยๆ มาฝากแฟนๆ ครับ  ภาพแรกทักทายกันด้วยนกกระสาแดงที่โผผินอย่างสง่างาม


อีกรูปกับนกกระสาแดงขนาดใหญ่ชูคอสังเกตการณ์เมื่อได้ยินเสียงเครื่องเรือของเราเข้าไปใกล้  ด้านหลังคือนกยางควายสีขาวปลอด  ซึ่งเป็นนกประจำถิ่นที่พบเห็นได้ไม่ยากครับ  ตอนมันบินยิ่งสวย  เพราะจะเห็นแพนปีกสีขาวสะอาดขนาดใหญ่แผ่กว้าง


เลนส์ Nikon 500 mm. f4 NANO บวก Teleconverter 1.7X ทำงานร่วมกันได้อย่างยอดเยี่ยมและรวดเร็ว  สามารถติดตามถ่ายภาพการบินร่อนของนกยางโทนได้อย่างชัดแจ่มครับ


ดูกันให้เต็มตาอีกภาพในความสง่างามของนกยางโทนใหญ่  หนึ่งในเจ้าแห่งนกน้ำของบึงบอระเพ็ดมาช้านาน  มันเป็นนกน้ำกินปลาที่ช่วยให้ห่วงโซ่อาหารสมบูรณ์  โชคดีที่วันนี้เรายังเห็นมันได้ในปริมาณมากพอสมควร


นกเป็ดผีเล็กตกใจกำลังเตรียมโผขึ้นจากน้ำเมื่อได้ยินเสียงเครื่องเรือของเรา  เลนส์ Nikon 500 mm. f4 NANO  ทำงานร่วมกับ Teleconverter 1.7X  และกล้อง D3 ได้อย่างยอดเยี่ยม  สามารถจับภาพเสี้ยววินาทีนี้มาได้ด้วยการปรับ Mode บันทึกภาพแบบ Continuous  หรือยิงภาพต่อเนื่อง 9 เฟรม/วินาที


ถ่าย Portrait นกกาบบัวให้รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย  เพราะดูเจ้าตัวนี้จะไม่ค่อยขึ้ตกใจ  เรือของเราจึงเข้าใกล้มันได้มากจนไม่น่าเชื่อ  ก่อนที่เลนส์ Nikon 500 mm. + Teleconverter 1.7X จะทำให้เฟรมภาพล้นจนคับ  ผมก็รีบรัวชัตเตอร์ให้เหลือ Space หลวมๆ ไว้ก่อนเลย


นกอีโก้ง  ถือเป็นนกรับแขกหรือนกที่หาง่าย  ในบรรดานกประจำถิ่นของบึงบอระเพ็ด  สีขนสีน้ำเงินเหลือบม่วงตัดกับปากสีแดงสด  และขาสีชมพูอ่อน  เพิ่มความงามแก่พวกมัน  เรามักพบนกอีโก้งเดินหากินอยู่บนกอพืชน้ำด้วยนิ้วที่เรียวยาว  แต่การถ่ายภาพพวกมันในระยะใกล้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ


พอเรือของเราเข้าใกล้เกินไป  เจ้านกอีโก้งก็เริ่มทนไม่ไหว  รีบบินหนีเข้าไปหลบในพงหญ้ารก  การแพนกล้องตามด้วยการจับโฟกันอันแม่นยำของเลนส์ Nikon 500 mm. f4 NANO  บวกกับความอดทนของช่างภาพ  คือหัวใจสำคัญที่สามารถจับภาพนี้มาฝากจนได้ครับ


สำหรับภาพนกยางกรอกพันธุ์จีนเกาะนิ่งอยู่บนตอไม้ไผ่กลางน้ำรูปนี้  ถือว่าถ่ายไม่ยากครับ  เพราะไม่ต้องการความฉับไวหรือเทคนิคอะไรมาก  เพียงแต่ต้องเข้ามามันอย่างช้าๆ และเงียบที่สุด  เท่านั้นเอง


หวังว่าบึงบอระเพ็ดจะอยู่คู่เราคนไทยไปอีกนานแสนนาน  ตราบใดที่เรายังเห็นคุณค่า  และช่วยกันอนุรักษ์แหล่งธรรมชาติ "เมืองหลวงของนกน้ำ" นี้ไว้  ให้อยู่เป็นทรัพยากร  ต้นทุนทางธรรมชาติ  ซึ่งเราพึ่งพิงพึ่งพาได้ตราบชั่วลูกชั่วหลานครับ