วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

โลกของภาพ MACRO (ตอน 1 : แสงธรรมชาติ)

ในโลกที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้  แท้จริงแล้ว  ยังมี "โลกใบเล็ก" อีกโลกหนึ่งซ้อนทับอยู่  เป็นโลกที่ถ้าไม่ใส่ใจ หรือไม่สังเกตก็ไม่อาจเห็นได้  ทว่าการใช้ตาเปล่าสำรวจหรือบันทึกภาพขนาดจิ๋วเหล่านี้  อาจไม่ชัดเจน  จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์เสริม  หรือตัวช่วยนิดหน่อย  นี่คือ  "การถ่ายภาพมาโคร" (Macro Photography) ตอนที่ 1 เป็นการบันทึกภาพสิ่งเล็กๆ ด้วยแสงธรรมชาติครับ

อุปกรณ์ที่ผมใช้ติดกระเป๋ากล้องประจำ  เวลาออกไปท่องธรรมชาติ  คือ  เลนส์มาโคร 105 mm. f2.8 ของ Nikon ซึ่งเจ้านี่มีกำลังขยาย 1 : 1 หมายความว่า  ให้ไซต์ของวัตถุในภาพเท่าขนาดจริงเลยครับ  ส่วนอุปกรณ์ที่ผมใช้เป็น "มาโครแบบหลอกๆ" หรือ "ถ่ายภาพกึ่งมาโคร" ซึ่งมีกำลังขยายน้อยลงก็คือ  เลนส์ 50 mm. f1.4 และฟิวเตอร์ Close UP No. 4T ของ Nikon ครับ  ใช้คู่กันก็ให้ผลได้น่าทึ่งทีเดียว

บางคนบอกว่า  เลนส์ 50 mm. คือเลนส์มาโครที่ดีที่สุดในโลก!!!  เพราะถ้ามีวงแหวนกลับเลนส์  แล้วใช้เลนส์ตัวนี้ถ่ายภาพ  ก็จะให้ผลกำลังขยาย 1 : 1 เท่าเลนส์มาโครแท้เลยล่ะครับ  แถมสียังเยี่ยมยอดด้วย!

การถ่ายภาพมาโครจำเป็นต้องใช้ความนิ่งมาก  เนื่องจากองศารับภาพของเลนส์แคบ  คือจำกัดเฉพาะบางพื้นที่  กล้องไหวนิดเดียวภาพก็เบลอแล้ว  ขาตั้งกล้อง, สายลั่นชัตเตอร์  หรือการตั้งโหมดถ่ายแบบตั้งเวลา จึงสำคัญ  เพื่อให้กล้องสั่นไหวน้อยที่สุด


ภาพที่ 1 : คือเจ้าตั๊กแตนตำข้าว  ที่ จ.ตาก  ถ่ายด้วยเลนส์ 50 mm. + Filter Close UP 4T ของ Nikon  ให้ภาพออกมาในอารมณ์กึ่ง Macro ได้ดีทีเดียว  โดยโฟกัสที่ดวงตาให้คบกริบ  ผมชอบเปิดหน้ากล้องกว้างๆ ประมาณ  f2-2.8 เพื่อให้ฉากหลังละลาย (Out)  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  ก็ต้องรู้จักขยับองศากล้องด้วย  เพื่อหลบหลีกฉากหลังที่รก  ตัวแบบของเราจะได้โดดเด่น  ภาพนี้ไม่ใช้ขาตั้งกล้อง  แต่อาศัยมือนิ่งครับ  ฮาฮาฮา!


ภาพที่ 2 : ใช้เลนส์ Macro 105 mm. f2.8 ถ่ายภาพ Portrait ใบหน้าเจ้าตั๊กแตนตำข้าว ที่ จ.นครราชสีมา  เมื่อเปรียบเทียบกับภาพที่ 1 จะเห็นว่า  เลนส์มาโครแท้จะเข้าใกล้วัตถุได้มากกว่า และมีกำลังขยายมากกว่าใช้ Filter Close UP ครับ  ภาพนี้ผมยังเปิดหน้ากล้องกว้างสุด  เพื่อให้ฉากหลังละลาย


ภาพที่ 3 : ใช้เลนส์ Nikon Macro 105 mm. f2.8 ถ่ายภาพแมงมุมยืนจังก้าอยู่บนเห็ด ที่ จ.นครราชสีมา  อัตรากำลังขยาย  detail สีสัน ของเลนส์ตัวนี้น่าประทับใจมาก  ผมพยายามเลือกฉากหลังให้รกน้อยที่สุด  เพื่อให้ Background ไม่รบกวนตัวแมงมุม  แจ่มครับ  ส่วนสีสันของเห็ดก็ช่วยให้ภาพดูมีชีวิตชีวา  และมี Story ขึ้นด้วย


 ภาพที่ 4 : คือใบเฟินในสวนหลังบ้านครับ  ภาพนี้ถ่ายตอนเช้า  แบบย้อนแสง  ประมาณ 10.00 น. ตอนฤดูหนาว  แดดยังเฉียงๆ อยู่  เมื่อมองย้อนแสง  สีของใบเฟินจึงแจ่มกระจ่างขึ้นมา  ฉากหลังก็เลย OUT ไปด้วยสีขาวของไอแดดอุ่น  ภาพนี้ใช้เลนส์ Nikon 50 mm. + Filter Close UP 4T  เปิดหน้ากล้อง f2 ให้อารมณ์กึ่งมาโครดี  แต่ถ้าจะเข้าใกล้ถึงระดับสปอร์ของใบเฟินล่ะก็  ต้องรูปที่ 5 ครับ


ภาพที่ 5 : ภาพนี้ใช้เลนส์ Macro 105 mm. f2.8 ของ Nikon ครับ  เปิดหน้ากล้องกว้างๆ ตามสไตล์ที่ชอบ  แต่ในส่วนกลางภาพที่ต้องการโฟกัสให้คม  ก็ต้องไม่พลาดเลยนะ  ไม่งั้นจบเห่ทั้งภาพ!  ฉากหลังผมเลือกให้เป็นพื้นสีเขียวโล่งๆ เพื่อไม่ให้กวน detail ส่วนหน้าครับ  จะเห็นว่าเลนส์มาโครแท้  ให้อัตรากำลังขยายได้มากกว่าภาพที่ 4 ซึ่งใช้เพียง Filter Close UP  ช่างภาพคนไหนชอบแบบไหน  ก็เลือกเอาได้เลยนะ


ภาพที่ 6 : นี่ก็เป็นอีกภาพที่ผมชอบ  ถ่ายจาก จ.เชียงใหม่เมื่อหลายปีก่อน  พอดีเดินเที่ยวอยู่ใวัด  แต่ตาดันไปเห็นมดเดินต้วมเตี้ยมอยู่บนใบเฟินอ่อนของเฟินข้าหลวงหลังลาย  โชคร้าย  วันนั้นไม่ได้เอาเลนส์ Macro 105 mm. ไป  จึงใช้มุขเก่าคือ  เลนส์ 50 mm. f1.4 + Filter Close UP 4T  แม้อัตราขยายจะไม่ได้ 1 : 1 แต่ก็ OK ครับ  ถือว่าน่าพอใจ  เพราะยังเห็นม้วนใบเฟินกับมดตัวน้อย  คือรู้ว่ามันกำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน
และเช่นเคย  ผมไม่ลืมเลือกฉากหลังที่ไม่รบกวนภาพครับ  นี่คือหลักสำคัญประการหนึ่งของ Macro


ภาพที่ 7 : ออกจะเป็นภาพแนว Art หรือกึ่ง Abstract (นามธรรม) หรือเป็น Graphic หน่อยๆ นะครับ คือใช้เลนส์ Macro 105 mm. f2.8 ถ่ายภาพระยะใกล้ให้เห็นเส้นโครงร่างของใบไม้ที่กำลังผลัดใบ เปลี่ยนสี ก่อนปลิดปลิวร่วงหล่นจากต้น  ภาพนี้ถ่ายย้อนแสงครับ  คือหันกล้องสู้ฟ้า  มีพระอาทิตย์อยู่ตรงหน้า  มีใบไม้กั้นกลางกล้องกับดวงอาทิตย์  วิธีนี้ทำให้สีของใบไม้ใสกระจ่างขึ้นมา  และช่วยโชว์ detail เส้นโครงร่างใบไม้ให้ชัดเจนขึ้น  ไม่ต้องใช้แสงแฟลชเลยครับ  ฮาฮาฮา


ภาพที่ 8 : ความงามของดอกบัวบานยามเช้ามักดึงดูดให้ถ่ายภาพมาโครได้เสมอเลยล่ะครับ  ภาพนี้ถ่ายที่บ้านกรุงเทพฯ ใช้เลนส์ Macro 105 mm. f2.8 ถ่ายเจาะลงไปตรงกลางเกสรดอกบัว  แต่ไม่เข้าใกล้เกินไป (จริงๆ ยังเข้าใกล้เกสรตรงกลางได้มากกว่านี้  แต่ผมชอบภาพหลวมๆ ประมาณนี้ครับ) เปิดหน้ากล้องกว้างๆ ให้ชัดเฉพาะเกสรตรงกลาง  ที่เหลือเบลอ  ให้อารมณ์ภาพฟุ้งฝัน  เป็นการโชว์ Form และ Colour ของดอกบัวครับ


ภาพที่ 9 : ภาพนี้ได้มาตอนไปเที่ยวลาวเมื่อ 2 ปีก่อนครับ ที่หลวงพระบาง  เป็นภาพดอกชบาที่หน้ารีสอร์ทนั่นเอง  แต่ผมไม่ได้เอาเลนส์ Macro ไป  เลยใช้เลนส์ Nikon 50 mm. f1.4 + Filter Close UP 4T เปิดหน้ากล้องประมาณ f2  โฟกัสเฉพาะส่วนปลายพู่เกสรที่ห้อยออกมาจากกลีบดอกด้านหลัง  ให้อารมณ์ภาพ Art Art Out Out ดีครับ  ชอบๆๆๆๆๆๆๆ


ภาพที่ 10 : เป็นภาพมาโครที่ผมชอบมากที่สุดภาพหนึ่งในชีวิตตัวเอง  เพราะผมว่ามัน Art ดี  ภาพนี้ได้มาจาก จ.นครพนม เมื่อปี 2011 ครับ  ถ่ายตอนหน้าฝนที่วัดอะไรจำไม่ได้แล้ว  ใช้ Filter Close Up 4T + เลนส์ Nikon 50 mm. f1.4  โดยภาพนี้กล้าหาญมาก  เปิด f1.4 เลย  จึงชัดเฉพาะหยดน้ำ  อีกทั้งได้ขอบภาพดำมาด้วย  ทำให้ภาพไม่แบน  มีส่วนมืด ส่วนสว่าง ไล่โทนสีกัน  แจ่มอีกเช่นเคยครับ  ชอบๆๆๆๆๆ


ภาพที่ 11 : ถ้าขยันตื่นแต่เช้าตรู่  ก็จะได้ภาพมาโครพร้อมหยดน้ำค้างครับ  แต่รูปนี้ไม่ใช่ตื่นเช้าธรรมดานะ เพราะเป็นเช้าหน้าฝนที่อากาศน่านอนมาก!!!  ใช้เลนส์ Macro 105 mm. f2.8 ถ่ายภาพเจ้าแมงมุมตัวจิ๋ว ที่มีหยดน้ำฝนและหยดน้ำค้างผสมกันอยู่บนใยของมัน  การเข้าหาแมงมุมต้องช้ามากๆ หยุดเป็นระยะๆ พอได้ระยะห่างตามต้องการ  ก็เริ่มโฟกัส  แต่เจอปัญหามีหยดน้ำเยอะ  เลนส์วิ่งไม่หยุด  โฟกัสไม่ได้ใน Mode Auto  จึงเปลี่ยนมาใช้ Mode Manual แทนครับ  คราวนี้เปิดหน้ากล้องกว้างๆ เพื่อให้หยดน้ำเบลอเป็นวงกลมสวย  แต่ส่วนหัวของแมงมุมชัดพอ  ชอบอีกแล้ว  ชอบๆๆๆๆๆ


ภาพที่ 12 : เวลาไปเดินเที่ยวป่าดิบแถบภาคใต้  ก็มักจะได้ภาพมาโครสวยๆ แปลกๆ กลับมาเสมอครับ โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี  ภาพนี้เป็นจักจั่นงวง  ซึ่งเผยปีกในโผล่ออกมา (สีฟ้าดำ) ปีกในนี้ใช้กระพือช่วยให้บินได้  ส่วนปีกนอกที่แข็งๆ สีเขียวลายจุดเหลืองนั้น  ไม่ได้ใช้บิน  แต่ใช้ปกป้องปีกในไม่ให้ฉีกขาดครับ  ใช้เลนส์ Macro 105 mm. f2.8 ทำให้ฉากหลังละลายไปเลย


ภาพที่ 13 : นี่ก็เป็นจักจั่นงวงอีกชนิดครับ  เจ้านี่พบที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา  ได้ภาพมาเมื่อหน้าฝนปี 2011  ใช้เลนส์ Macro 105 mm. f2.8  โดยใช้มือถือครับ  ไม่ได้ใช้ขาตั้ง  ค่อยๆ ขยับเข้าหามันช้าๆ สลับกับหยุดนิ่ง  พอได้ระยะก็โฟกัสมือ (Mode Manual) ไปที่ดวงตาและงวงของมัน  ผมเลือกใช้หน้ากล้องกว้างๆ เพื่อให้ฉากหลังละลาย  แลกกับ detail บนตัวมันที่ต้องสูญเสียไป

สรุปว่า  การถ่ายภาพ Macro แบบแสงธรรมชาตินั้น  สามารถทำได้ทั้งตามแสงและย้อนแสง  สามารถถ่ายภาพได้ทั้งด้วยมือและใช้ขาตั้งกล้อง  สามารถกระทำได้ทั้งด้วยการเปิดหน้ากล้องกว้างและแคบ  ไม่มีหลักตายตัวครับ  ที่สำคัญอีกอย่างคือ  การเลือกฉากหลัง (Background) ต้องส่งเสริมให้วัตถุที่ต้องเก็บภาพ (Subject) โดดเด่น  สามารถใช้ได้ทั้งการถ่ายแบบ Auto Focus และ Manual Focus แล้วแต่ว่าด้านหน้าเลนส์มีอะไรขวางอยู่มากน้อยแค่ไหน  ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับประสบการณ์  การฝึกฝน  ชั่วโมงบิน  และการพิจารณาของช่างภาพแต่ละคนครับ

ไม่มีถูกผิดหรอก  ความสวยของแต่ละคนต่างกัน  อย่าเครียดเลย  ถ่ายภาพให้สนุก  เดี๋ยวออกมาสวยเอง  เชื่อผมเถอะครับ  ฮาฮาฮา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น